• Library photo1
  • Library photo2
  • Library photo3

ความหมาย

          จดหมายเหตุ หรือภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า Archive หมายถึง รายงานหรือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยผู้บันทึกอาจเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลทั่วไปก็ได้ เพื่อบันทึกไว้สำหรับใช้อ้างอิงในอนาคต สถานที่เก็บและให้บริการเอกสารจดหมายเหตุเรียกว่าหอจดหมายเหตุ จดหมายเหตุประเทศไทย เป็นบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ เรียงลำดับเหตุการณ์ตามวัน เดือน ปี เพื่อให้ผู้ค้นคว้าสามารถมองเห็นบริบทของเหตุการณ์ภายใต้เงื่อนไขเวลาที่เกิดขึ้นจริง ตามหลักเกณฑ์และกระบวนการทางวิชาการ บันทึกเหตุการณ์สำคัญของกลุ่มบันทึกเหตุการณ์ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ส่วนเอกสารจดหมายเหตุ หมายถึง เอกสารที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ได้ผลิตขึ้นหรือรับไว้ และมีคุณค่าทางการบริหาร การเงิน กฎหมาย หรือเป็นพยานหลักฐาน มีสาระเชิงประวัติศาสตร์และวิทยาการใหม่ๆ สมควรเก็บรักษาตลอดไป เอกสารจดหมายเหตุยังหมายถึง เอกสารทุกชนิดของหน่วยงานที่สิ้นกระแสอายุการใช้งานแล้วโดยจะมีอายุประมาณ 20-30 ปีย้อนหลัง และจำเป็นที่จะต้องเก็บตลอดไปไม่สามารถทำลายได้ พร้อมทั้งมีความสำคัญต่อประวัติพัฒนาการของหน่วยงาน

 

ที่มาของภารกิจจดหมายเหตุ สทป.

          มาตรา 22(5) ของพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.2562 กำหนดให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศมีวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้แก่กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานของรัฐ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

          ประกาศสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ 18/2563 ลง 3 สิงหาคม พ.ศ.2563 เรื่องการแบ่งส่วนงาน กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ และกำหนดอำนาจการบัญคับบัญชา ให้ฝ่ายองค์ความรู้และการเผยแพร่ (Knowledge and Publication Management Department - TKP) มีหน้าที่สำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารและประวัติของสถาบันฯ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยมีส่วนข้อมูลเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defence Technology Information Division – TDI) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารและประวัติของสถาบันฯ การจดบันทึกจดหมายเหตุ และการพิพิธภัณฑ์ของสถาบันฯ

 

กิจกรรมที่ดำเนินการ

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 0930 – 1200 น. นาวาอากาศเอก ดร.ชำนาญ ขุมทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์ความรู้และการเผยแพร่ และทีมงานส่วนข้อมูลเทคโนโลยีป้องกันประเทศเข้าเยี่ยมชม (คลิกที่นี่) สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อนำความรู้ด้านจดหมายเหตุมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ของ สทป.

 

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 เวลา 1000 – 1200 น. พลอากาศตรี ผศ.ดร.สุธี จันทรพันธุ์ รองผู้อำนวยการกลุ่มบริการวิชาการและเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) เข้าดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการเอกสารจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ทั้งยังเข้าเยี่ยมชมห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งเป็นห้องสมุดเฉพาะเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้พัฒนาต่อยอดในโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

 

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 0830 - 1230 น. พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นประธานเปิดงานกิจกรรม หัวข้อ “ย้อนอดีตวันวาน ก่อนมาเป็น สทป.” ภายในงานได้รับเกียรติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านจดหมายเหตุ ดร. วราภรณ์ พูลสถิติวัฒน์ อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นายชัยวัฒน์ น่าชม ผอ. สำนักบรรณาสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนางสาวยวิญฐากรณ์ ทองแขก บรรณารักษ์ชำนาญการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บรรยายเกี่ยวกับการบริหารจัดการจดหมายเหตุ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สทป. เข้าใจและตระหนักรู้ถึงความสำคัญงานจดหมายเหตุ และภายในงานมีพิธีมอบโล่และป้ายเชิดชูเกียรติเจ้าหน้าที่ฯ รุ่นก่อนก่อตั้ง สทป. (2549-2550) พร้อมมอบของรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ที่ส่งภาพประกวด "แชร์ภาพวันวาน ความคิดถึง สทป. " จัดขึ้น ณ ห้องสมุด สทป. ชั้น 9

 

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 คณะเจ้าหน้าที่ สทป. นำโดย นาวาอากาศเอก ดร.ชำนาญ ขุมทรัพย์ ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายองค์ความรู้และการเผยแพร่ ได้หารือร่วมกับ ดร.วราภรณ์ พูลสถิติวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ารับฟังแนวทางการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

 

 

 

การดำเนินการต่อไป 

 

ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อมของบุคลากร สถานที่ และกระบวนการด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกัน

1) การรวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อม ด้วยการจัดกิจกรรมการเล่าเรื่อง (Storytelling) ตามกระบวนการ Knowledge Sharing ของ สทป. โดยเชิญเจ้าหน้าที่ในยุคก่อตั้ง สทป. มาเล่าเรื่องราวความเป็นมา

2) การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความตระหนักรู้และเชิญบุคคลสำคัญภายนอก สทป. ที่มีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง สทป. มาร่วมเป็นสักขีพยานและให้ข้อมูลที่สำคัญ

3) การปฏิบัติงานนอกสถานที่ในหน่วยงานด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เพื่อการพัฒนาบุคลากร สทป. ให้มีขีดความสามารถในด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และกิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับหน่วยงานด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เพื่อรวบรวมความเชี่ยวชาญจากภายนอกและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ก่อเกิดประโยชน์ต่องานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

4) การว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้งานด้านการบริหารจัดการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งสอดคล้องกับที่สถาบันฯ กำลังเดินตามแนวทางการบริหารจัดการด้วย ISO และ TQA

5) การจัดทำข้อมูลจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ทั้งนี้จะเป็นไปตามแนวทางซึ่งที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ ให้ผลการศึกษาและแนวทางปฏิบัติไว้

ระยะที่ 2 การรวบรวมข้อมูลและข่าวสารเพื่อจัดเก็บในหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมตามผลที่ได้ในระยะที่ 1 โดยจะประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญของสถาบันฯ ผลงานที่สถาบันฯ ได้ดำเนินมาโดยตลอดตั้งแต่การก่อตั้ง และหอเกียรติยศเพื่อเชิดชูเกียรติ์และผลงานของเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารผู้ทำประโยชน์และสร้างชื่อเสียงให้สถาบันในระดับชาติและนานาชาติ

ระยะที่ 3 การเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ซึ่งจะดำเนินการในสถาบันฯ คือสถานที่จัดเก็บจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม โดยเปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาเยี่ยมชมนอกเหนือวันและเวลาราชการ เนื่องจากอาคารสำนักงานของสถาบันฯ อยู่ใกล้แหล่งจัดนิทรรศการที่ศูนย์แจ้งวัฒนะ และการดำเนินการนอกสถาบันฯ เป็นการนำข้อมูลและข่าวสารจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ออกเผยแพร่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และการประชาสัมพันธ์ด้วยบุคคลต่อเป้าหมายตามที่ฝ่ายบริหารของสถาบันฯ กำหนด

 

ร่างโครงการหอจดหมายเหตุ สทป. เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (คลิกที่นี่) 

1. เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามหลักการด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์

2. เพื่อจดบันทึกจดหมายเหตุและประวัติของสถาบันฯ สำหรับใช้อ้างอิงด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในอนาคต

3. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

4. เพื่อพัฒนาสาระสำคัญของข้อมูลข่าวสารสำหรับการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

 

 

หนังสือจดหมายเหตุสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
 
รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของ สทป. ในอดีต นับตั้งแต่การก่อตั้งสถาบัน จนกระทั่งดำเนินงานครบรอบ 12 ปี
 
โดยเป็นการบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ผลงาน และกิจกรรมเด่นของ สทป. รวมถึงการร่วมทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
 
พระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.. 2562
 
สามารถดาวน์โหลดหรืออ่าน Ebook ได้ที่ลิงค์ https://online.fliphtml5.com/gihfa/zhzd/ 

 

 

 

  • new2021001
  • new2021002
  • new2021003
  • new2021004
  • new2021005
  • new2021006
  • new2021007
  • new2021008